งานประณีตศิลป์
 

          ข้าพเจ้ามีครูหุ่นที่สอนให้เชิดหุ่นกระบอกเป็นอยู่สองท่าน ท่านแรกคือคุณครูชื้น สกุลแก้ว อีกท่าคือคุณครูวงษ์ รวมสุข
 

          เริ่มหัดเชิดเมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๑๖ หัดได้ไม่เท่าไหร่ คุณครูชื้นก็ให้ไปช่วยเชิดหุ่นกับคณะของท่าน เวลาที่ท่านรับงานแสดงตามโอกาสต่างๆ เช่น งานวัด งานโรงเรียน ฯลฯ เป็นประสบการณ์ที่ได้จากการออกเล่นให้คนดู และถือเป็นการฝึกฝนเล่าเรียนไปในตัว

          ส่วนคุณครูวงษ์ถึงกับเดินทางจากอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาสอนเชิดหุ่นให้ถึงบ้าน นอนค้างอยู่คราวละหลายๆ คืน จ้ำจี้จ้ำไชจะให้ดีให้ได้ดังใจท่าน ข้าพเจ้าได้ทาง และกลเม็ดจากคุณครูวงษ์อยู่หลายกระบวนท่า พระคุณของคุณครูทั้งสองนั้นหาที่สุดมิได้

          สำหรับการทำหุ่นกระบอก ข้าพเจ้าถือเอาหุ่นเก่าที่ได้จากคุณครูชื้นเป็นครู อีกท่านหนึ่งที่ถึงแม้มิได้จับมือสอน แต่ได้ให้คำแนะนำอันมีค่า ในการทำรัดเกล้า ชฎา และเครื่องสวมศีรษะหุ่นต่างๆ คือคุณครูชิตแก้ว ดวงใหญ่

          หุ่นสมัยแรกๆ ของข้าพเจ้า เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวยังไม่ประณีต ใช้วิธีเดาทำเอาจากที่เห็นแบบครูพักลักจำ ไม่มีครูบาอาจารย์

          จนเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐ ได้มีโอกาสรู้จักกับปรมาจารย์เยื้อน ภาณุทัต บรมครูทางงานประณีตศิลป์ ท่านได้กรุณาสอนการปักดิ้นเลื่อมให้ และข้าพเจ้าได้นำความรู้ที่ได้ มาใช้ในงานหุ่นของข้าพเจ้า และงานอื่นๆ อีกหลายชิ้น เช่นการปักเครื่องแต่งตัวละคร ปักผ้าสไบ ตาลปัตร ฯลฯ สมดังที่ท่านอาจารย์เยื้อนผู้มีพระคุณยิ่ง ได้เคยกล่าวไว้ว่า วิชาของท่านเป็นวิชาที่สามารถแตกฉานพลิกแพลงไปได้ไม่รู้จบ

          ต่อมาข้าพเจ้าได้ขยายวิชาปักดิ้นเลื่อมให้แก่สมัครพรรคพวกรุ่นน้องๆ อีกหลายท่านให้เป็นได้ในขั้นดี เมื่อมีงานก็เรียกระดมพลมาช่วยกัน

          ข้อสะดวกคือคณะของเราเป็นช่างเขียนอยู่แล้ว จึงออกแบบเขียนลายเอง ปักเอง สร้างหุ่นเอง และเชิดหุ่นเองด้วยเสร็จสรรพ

          ที่ข้าพเจ้าเรียกว่าเป็น “คณะ” เนื่องจากงานหุ่น และงานประณีตศิลป์ของข้าพเจ้าเหล่านี้ มิได้ทำด้วยคนคนเดียว เช่นงานเขียนรูป แต่ต้องทำด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ของหลายบุคคลจากหลายแขนงวิชา จึงจะสำเร็จลุล่วงลงได้ดังประสงค์

จักรพันธุ์ โปษยกฤต
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๖
ตุ๊กตาวรรณคดี | ลายปักชุดละคร | ลายปักชุดหุ่นหลวง และหุ่นกระบอก
 
  จิตรกรรม วาดเส้น งานออกแบบ งานประณีตศิลป์ งานวรรณกรรม ฐานข้อมูลผลงาน
มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ๔๙/๑ ซอยสุขุมวิท ๖๓ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๑๐ โทรศัพท์: ๐-๒๓๙๒-๗๗๕๔ โทรสาร: ๐-๒๓๙๒-๗๗๕๓
ผู้เยี่ยมชมขณะนี้: 6 คน Copyright © 2012 CHAKRABHAND.ORG All Rights Reserved. จำนวนผู้เยี่ยมชม: 517