มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดตรีทศเทพวรวิหาร กรุงเทพฯ
จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี
งานซ่อมหลวง
ความเป็นมา และวัตถุประสงค์  
          มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๖ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักของมูลนิธิเพื่อทำนุบำรุงศิลปะ และศาสนา รวมทั้งสร้างงานศิลปกรรมแขนงต่างๆ โดยกลุ่มศิลปินแขนงต่างๆ ที่ร่วมกัทำงานตามเจตจำนงที่ได้วางไว้

 

          สถานที่ตั้งของมูลนิธิคือบ้านเลขที่ ๔๙/๑ ซอยสุขุมวิท ๖๓ (เอกมัย) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๑๐ ซึ่งเป็นที่ทำงานศิลปะหลายๆ ด้านพร้อมๆ กัน ในเวลาเดียวกัน ทุกกลุ่มงานล้วนดำเนินการโดยใช้สถานที่อันเป็นที่ตั้งของมูลนิธิฯ ในปัจจุบัน งานใหญ่ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของมูลนิธิฯ และทำมาจนถึงปัจจุบัน ดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ

 

ด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
          ๑. การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดตรีทศเทพวรวิหาร เริ่มเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๓ – ปัจจุบัน
          ๒. การเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี เริ่มแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๗ – ปัจจุบันทั้ง ๒ โครงการ งานออกแบบ และงานร่างแบบทั้งหมดจะดำเนินการที่มูลนิธิฯ แห่งนี้ แล้วจึงส่งให้แก่กลุ่มช่างเขียนนำไปเขียนในพระอุโบสถ

 

ด้านการทำนุบำรุงศิลปกรรมของชาติ
          มีทั้งที่ได้ทำมาก่อนตั้งมูลนิธิฯ และหลังตั้งมูลนิธิฯอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
          ๑. กลุ่มงานอนุรักษ์ และซ่อมแซมศิลปกรรมชิ้นสำคัญของชาติไทย โดยให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกรมศิลปากร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คือ
          ๑.๑ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เขียนซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ณ พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ห้องที่ ๑๕๙ - ห้องที่ ๑๖๐ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕
          ๑.๒ ควบคุม และซ่อมแซมตู้วรรณคดี เรื่องอิเหนา ที่ใช้ประดับงานพระเมรุ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และซ่อมตุ๊กตาวรรณคดี เรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกพรหมาสตร์ “หนุมานหักคอช้างเอราวัณ” เนื่องในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๔- ๒๕๒๕ ปัจจุบันเก็บรักษาโดยตั้งแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
          ๑.๓ ควบคุม และซ่อมแซมหุ่นหลวง อันเป็นศิลปะสมบัติตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ชำรุดทรุดโทรมมาก จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๙ ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งทักษิณาภิมุข พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
          ๑.๔ ควบคุม และซ่อมแซมหุ่นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หรือหุ่นวังหน้า จำนวน ๑๐๐ ตัว พ.ศ. ๒๕๓๖-๒๕๔๐ ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งทักษิณาภิมุข พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

 

          ๒. กลุ่มงานออกแบบสร้างสรรค์ศิลปกรรมตามพระราชเสาวนีย์ และพระราชดำริ คือ
          ๒.๑ ออกแบบ และควบคุมการสร้างตุ๊กตาและฉากประกอบขึ้นเป็นตู้วรรณคดี จากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีเรื่องรามเกียรติ์ อิเหนา สังข์ทอง มณีพิชัย พ.ศ. ๒๕๒๖ –๒๕๓๐ ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

          ๒.๒ ออกแบบ และควบคุมการสร้างงานประติมากรรมสำริดขนาดเท่าคนจริง พระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รูปเจ้าเงาะกับเด็กเลี้ยงควาย จากเรื่องสังข์ทอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. ๒๕๓๔– ๒๕๓๕ ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
          ๒.๓ ออกแบบ และควบคุมการสร้างประติมากรรมสำริดขนาดเท่าคนจริง พระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รูปไกรทองสู้กับชาละวัน จากเรื่องไกรทอง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. ๒๕๓๙– ๒๕๔๐ ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
          ๒.๔ ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๕๔๕– ๒๕๔๖ ได้ออกแบบ และควบคุมการสร้างประติมากรรมสำริดขนาดเท่าคนจริง พระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง รามเกียรติ์ ตอนถวายลิง พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ ณ อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
          ๒.๕ ภารกิจใหญ่ในปัจจุบัน ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๙ คือเป็นกรรมการที่ปรึกษาและควบคุมการสร้างเครื่องแต่งกายโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกพรหมาสตร์ ของกรมศิลปากร ตามพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกพรหมาสตร์ นี้ มีโครงการจะแสดงในวาระเปิดโรงละครแห่งชาติที่ได้รับการซ่อมแซมใหม่ ในปัจจุบันกำลังดำเนินการอย่างรีบเร่ง ทางมูลนิธิฯได้เปิดอบรมสอนการปักดิ้นเลื่อมตามอย่างวิธีของท่านอาจารย์เยื้อน ภาณุทัต ปรมาจารย์ทางวิชาประณีตศิลป์ที่ได้ถ่ายทอดไว้ให้
          นอกจากสร้างเครื่องพัสตราภรณ์แล้ว ได้ออกแบบสร้างศิราภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์ และอุปกรณ์การแสดง เครื่องประกอบฉาก ฯลฯ โดยใช้ช่างมีฝีมือของมูลนิธิฯ ช่างของกรมศิลปากร ทั้งช่างจากแหล่งอื่นๆ เข้าประสานงานร่วมมือกันหลายฝ่าย ทำติดต่อกันไม่มีวันหยุด
          สำหรับงานที่ทำถวายตามพระราชดำริและพระราชเสาวนีย์ มีทั้งแบบศิลปะประเพณีและแบบเหมือนจริง ได้แก่ภาพเขียนสีน้ำมันเรื่องมโนห์รา พระลอ อิเหนา พระบรมสาทิสลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ พระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และงานเขียนพระวิชนี ออกแบบตาลปัตรเนื่องในวโรกาสต่างๆ ตลอดจนงานประณีตศิลป์ ออกแบบตาลปัตรและปักดิ้นเลื่อมบนกำมะหยี่ สำหรับตาลปัตรที่ทำขึ้นในวโรกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖

 

          ๓. กลุ่มงานออกแบบ และสร้างสรรค์ศิลปกรรมในสถานที่อันเป็นสื่อทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ คือ
          ๓.๑ ออกแบบม่านทอเป็นภาพจิตรกรรมไทยประเพณี เรื่องไหว้ครู ชุดโหมโรงเย็น ณ เวทีหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๙ ซึ่งใช้สำหรับการแสดงทั้งในประเทศและนานาชาติ และเป็นงานศิลปะเพื่อสืบทอดขนบประเพณีโบราณในการบูชาพระคุณครูที่ศิลปะไทยทุกแขนงได้รับการสั่งสอนและถ่ายทอดมาให้ประจักษ์แก่สายตาของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาแล้วกว่า ๒๐ ปี
          ๓.๒ ต่อมาอีก ๒๐ ปี คือในปีพ.ศ. ๒๕๔๙ ได้ออกแบบม่านเวทีโรงละครแห่งชาติขึ้นใหม่ในการซ่อมใหญ่ ขณะนี้ได้ทอเสร็จ และติดตั้งเรียบร้อยแล้ว เป็นภาพจิตรกรรมไทยประเพณี เพื่อบูชาพระรัตนตรัย สักการะครูทางช่าง และนาฏดุริยางคศิลป์ของไทย ซึ่งจะแสดงความเป็นชาติที่มีศิลปวัฒนธรรมมาแต่โบราณและส่งผลในลักษณะเดียวกับข้อ ๓.๑

 

          ๔. กลุ่มงานอนุรักษ์ สืบทอด และพัฒนาสร้างสรรค์ศิลปะการแสดงของชาติ คือการสร้างและแสดงหุ่นกระบอกพร้อมกันกับการทำเครื่องโขน งานหลักของมูลนิธิฯคือจัดสร้างและแสดงหุ่นกระบอก เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะการแสดงของไทยแขนงนี้ต่อเนื่องมาตลอด ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๑๘ และปรับปรุง มีพัฒนาการเจริญงอกงามขึ้นมาตามลำดับ ตั้งแต่เรื่องพระอภัยมณี ตอนหนีนางผีเสื้อ รามเกียรติ์ตอนนางลอย สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ และเรื่อง “ตะเลงพ่าย” ซึ่งเตรียมการและสร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อเทิดทูนวีรกรรมของบูรพกษัตริย์และบรรพชนไทย ปัจจุบันสามารถเปิดให้ประชาชนชมการซ้อมได้ทุกวันอาทิตย์ปลายเดือน โดยไม่คิดค่าเข้าชม มีผู้เข้าชมประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ คนทุกครั้ง ขณะนี้หุ่นกระบอก “ตะเลงพ่าย” ใกล้สำเร็จลุล่วงเข้าไปทุกทีในเวลาไม่นานนี้

ตู้วรรณคดี เรื่องอิเหนา
ออกแบบม่านทอเป็นภาพจิตรกรรมไทยประเพณี
ประติมากรรมรูปเจ้าเงาะกับเด็กเลี้ยงควาย จากเรื่องสังข์ทอง
 
ความเป็นมา และวัตถุประสงค์ งานซ่อม งานสร้าง
มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ๔๙/๑ ซอยสุขุมวิท ๖๓ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๑๐ โทรศัพท์: ๐-๒๓๙๒-๗๗๕๔ โทรสาร: ๐-๒๓๙๒-๗๗๕๓
ผู้เยี่ยมชมขณะนี้: 10 คน Copyright © 2012 CHAKRABHAND.ORG All Rights Reserved. จำนวนผู้เยี่ยมชม: 6653