|
||||||||
ข้าพเจ้าได้เห็นหุ่นกระบอกเป็นครั้งแรกจากการแสดงของนายเปียก
ประเสริฐกุล เรื่องพระอภัยมณี ทางโทรทัศน์ในราว พ.ศ.๒๔๘๙ -
๒๔๙๙ เมื่อแรกตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นใหม่ๆ ขณะนั้นอายุ ๑๒
ปี ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมปีที่ ๓ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย หลังจากที่ได้เห็นการแสดงหุ่นกระบอกครั้งนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ทำหุ่นกระบอกขึ้นเองบ้างด้วยวัสดุต่างๆ เช่น เปลือกหอย เปลือกไข่ ไม้ระกำ ใช้ด้ามพู่กันที่เสียแล้วทำแกนตัว และไม้ก้านธูปเป็นตะเกียบ และทำฉากหุ่นมีประตูสำหรับหุ่นเข้าออก เป็นโรงหุ่นเล็กๆ ชนิด เล่นเองดูเอง โดยดูจากในกระจกเงา เมื่อศึกษาอยู่ในคณะจิตรกรรม ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร มีหลักสูตรที่จะต้องไปศึกษาศิลปกรรมไทยที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ทำให้ได้เห็นหุ่นต่างๆ ที่เป็นศิลปวัตถุอีกมาก จึงได้ทำหุ่นกระบอกตัวเล็กสูงประมาณ ๑ คืบขึ้น ๑ โรง ใช้ไม้ซางเป็นลำตัวแทนไม้กระบอก ใช้ด้ามพู่กันเป็นตะเกียบ และได้เขียนฉากทำโรงขนาดย่อมให้พอเหมาะกับตัวหุ่นขึ้นอีกด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๗ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสรู้จักกับคุณครูชื้น (ประเสริฐกุล) สกุลแก้ว เจ้าของหุ่นกระบอกคณะนายเปียกฯ จึงได้เริ่มสะสมศีรษะหุ่นของคณะนายเปียกฯ โดยคุณครูชื้นกรุณาขายให้ ทั้งยังได้ถ่ายทอดวิชาการเชิดหุ่นให้ด้วยเห็นว่าข้าพเจ้าสนใจในเรื่องหุ่นกระบอก ข้าพเจ้าได้นำหัวหุ่นกระบอกเก่าเหล่านั้นมาซ่อมจนสมบูรณ์ จนกระทั่ง สมาคมแม่บ้านอาสา ได้ขอไปตั้งแสดงที่สยามสมาคม ในงานแสดง งานอดิเรก ปรากฏว่าได้รับความสนใจ จึงได้ติดสร้างตัวหุ่น และหัวหุ่นที่ยังขาดอยู่ขึ้น จนครบพอจะเล่นเป็นเรื่องได้ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๘ สมาคมแม่บ้านอาสาจึงได้จัดการแสดงหุ่นกระบอกสมัครเล่น คณะจักรพันธุ์ โปษยกฤต ขึ้นที่โรงละครแห่งชาติโรงเล็ก เก็บเงินรายได้โดยเสด็จพระราชกุศล โดยกราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จทอดพระเนตรการแสดงหุ่นกระบอกเรื่องพระอภัยมณีตอนหนีนางผีเสื้อ การแสดงครั้งนั้นได้จัดแสดงด้วยกันสี่รอบ และได้เชิญคุณครูชื้น สกุลแก้ว มาร่วมเชิดด้วยในฐานะครูอาวุโสทุกรอบ ในการแสดงรอบสุดท้าย ข้าพเจ้าได้มีโอกาสรู้จักกับคุณครูวงษ์ รวมสุข เจ้าของหุ่นกระบอกคณะชูเชิดชำนาญศิลป แห่งอำเภออัมพวา สมุทรสงคราม ซึ่งได้มาชมการแสดงอยู่ด้วย หลังจากนั้นได้ไปเยี่ยมคุณครูวงษ์ถึงที่อัมพวา จึงได้เรียนรู้วิธีเชิดหุ่นอีกทางหนึ่งจากคุณครูวงษ์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๙ คุณครูชื้นได้ขายหัวหุ่นกระบอกตัวสำคัญที่ใช้เล่นเป็นตัวเอกทุกครั้งของคณะนายเปียกฯ พร้อมทั้งตู้ใส่หุ่นทั้งหมดให้แก่ข้าพเจ้าทั้งโรง ยกเว้นสินสมุทร และพระครูฤๅษีบางศีรษะ ศีรษะหุ่นกระบอกที่ได้จากคุณครูชื้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๗ ถึง พ.ศ.๒๕๑๙ นี้ เป็นหุ่นกระบอกชุดแรกของนายเปียก ประเสริฐกุล ที่สร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๒ คือเมื่อนายเปียกได้สร้างหุ่นกระบอกขึ้นเป็นของตนเองเป็นครั้งแรก ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๐ มูลนิธิจุมภฏ พันธุ์ทิพย์บริพัตร และสมาคมคีตกวีได้จัดการแสดงหุ่นกระบอกเรื่องรามเกียรติ์ตอนนางลอย คณะจักรพันธุ์ โปษยกฤต แสดงสองรอบ ณ วังสวนผักกาด เก็บเงินเป็นการกุศลให้แก่มูลนิธิ โดยได้เชิญคุณครูชื้น สกุลแก้ว และคุณครูวงษ์ รวมสุข มาร่วมเชิดด้วย จากนั้นก็ได้หยุดแสดงไประยะหนึ่ง เนื่องจากเป็นคณะหุ่นสมัครเล่นดังกล่าว จนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๒ หุ่นคณะนี้ได้เดินทางไปแสดงเรื่องพระอภัยมณี ตอนหนีนางผีเสื้อ แสดงสี่รอบ เก็บเงินบำรุงการกุศลให้กับสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เชิญคุณครูชื้นร่วมเดินทางไปในการแสดงครั้งนี้ด้วย และในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ได้แสดงหุ่นเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางลอยอีกครั้งแต่ทอนลงให้เหลือเพียงหนึ่งชั่วโมง ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ บางลำพู โดยมีคุณครูชื้นร่วมเชิดด้วยเช่นทุกครั้ง ต่อมาก็ไม่ได้ออกแสดงอีกเลย แต่ได้เริ่มสร้างหุ่นจีนเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๑ และได้นำออกแสดงเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ ตัวหุ่นจะสวมเครื่องแต่งกายแบบนาฏศิลป์จีนโบราณ สวยงามประณีตละเอียดลออด้วยงานฝีมือประณีตศิลป์ชั้นสูง โดยมีครูเยื้อน ภาณุทัต ปรมาจารย์ทางงานประณีตศิลป์ผู้ชำนาญศิลปะนี้ โดยรับทอดความรู้จากวังหลวงในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการปักดิ้น เลื่อม ไหมทอง ทองแล่ง ตลอดจนวิชาการปักตามอย่างงานฝีมือชาววังแต่โบราณ กระทั่งหลังปี ๒๕๓๓ จึงได้คิดทำหุ่นกระบอกชุดตะเลงพ่ายขึ้น จนสามารถนำออกซ้อมการแสดงได้ในปัจจุบัน
|
||||||||
|
||||||||