บทหุ่นกระบอกเรื่อง "ตะเลงพ่าย" ไม่ใช่ "ลิลิตตะเลงพ่าย"

          ภายหลังเริ่มรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์จาก “พระราชพงศาวดาร”ฉบับพระราชหัตถเลขา “ไทยรบพม่า”พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ แลคำให้การชาวกรุงเก่า

          สรุปเอาโดยวิจารณญาณของตนเองเป็นที่ตั้ง ด้วยต้องการดำเนินเรื่องในทำนอง ตำนานอันปู่ย่าตายาย เล่าสืบทอดต่อกันมา โดยใช้เพลงหุ่นกระบอกขับบรรยาย คล้ายพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังจนหลับแล้วฝันไป เห็นเหตุการณ์บ้านเมืองความเป็นไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลังเสียกรุงแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒

          เมื่อแต่งบทเกริ่นนำเรื่องเสร็จ เรามีความรู้สึกว่า การพ้นจากสถานภาพตัวประกัน กลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยาของพระองค์ดำมกุฎราชกุมารนั้น คงมิใช่เรื่องง่าย ถ้าไม่มีตัวประกันแลกเปลี่ยน

          เชื่อตามมโนสำนึกว่า พระสุพรรณกัลยาราชธิดา ต้องจำเสด็จจากบ้านเกิดเมืองนอน สู่หงสาวดี ตกเป็นบาทบริจาริกาของมังเอิงราชบุตร ผู้รัชทายาทของพระเจ้าบุเรงนอง รับสนองวิเทโศบายแห่งพระราชบิดา เพื่อไถ่คืนเอาพระอนุชาคือพระนเรศวร ซึ่งเป็นพระราชโอรส ควรแก่การสงครามกอบกู้แผ่นดินสืบไปภายหน้า

          คือปฐมวีรกรรมความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ของพระวีรกษัตรีพระองค์นั้น ซึ่งมิได้เคยมีใครเห็นพระคุณอันปรากฏขจรกำจายดุจดั่งมาลี ครั้นบานคลี่สิ้นประโยชน์คือ ความงามและกลิ่นหอมแล้ว ก็รังแต่เหี่ยวเฉาร่วงโรย เลือนหายไปกับกาลเวลา

          ดอกเอ๋ยดอกแก้ว ร่วงแล้วก็โรยรา
แดดลมฝนปราย เลือนหายใต้พสุธา

          บทร้องเพลงเร็วสาวสวย ที่ว่า

          พระเอยพระบุตรีจะจากธานีไปเมืองพม่า

จะไปทางไหนจะไปหงสาไปอยู่พาราหงสาวดี

          นี้เราผูกขึ้นร้องทำนองเนื้อเต็ม ลำลองตามทางเครื่องดนตรี เพื่อให้ได้ชีวิตลีลาอย่างอยุธยา ดุจดั่งเป็นเพลงอันเด็กๆร้องเล่นกันโดยไร้เดียงสา สืบทอดมาจนทุกวันนี้ คำขับขานเรื่องพระสุพรรณกัลยาไปหงสาวดี จึงนับเป็นปฐมบทของเรื่อง “ตะเลงพ่าย"

          ส่วนโครงเรื่องนั้น วางตามคำแนะของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ว่าน่าจักมีฉากชนไก่ กับทรงพระสุบินสู้กับจระเข้ เพราะสนุกตื่นเต้นเป็นละครดี เราจึงดำเนินเรื่องตามสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าพระมหาอุปราชา คงจักท้าสมเด็จพระนเรศวรเล่นชนไก่กัน หลังจากตีเมืองคังแล้ว

          เพื่อรวบรัดเนื้อเรื่อง โดยไม่ต้องย้อนความจับมาแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ หากก็มิได้ค้านขัดคำให้การชาวกรุงเก่า ด้วยเห็นว่าธรรมดานักเลงไก่ทั้งหลายไม่มีใครเล่นประลองเดิมพันกันแค่ครั้งเดียว สมเด็จพระนเรศวร กับพระมหาอุปราชา เติบโต เล่นคลุกคลีกันมาในเมืองหงสาวดี จึงน่าที่จักเล่นชนไก่กันอยู่เนืองๆ

          ส่วนเรื่องบุคลิกภาพของพระมหาอุปราชนั้น เราเห็นขัดกับ “ลิลิตตะเลงพ่าย”ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส แลประวัติศาสตร์ไทยหลายฉบับที่ว่าวิสัยเป็นคนขลาด รักแต่เรื่องโลกีย์ ไม่ประสาการศึก จนถึงกับพระบิดาตรัสประชดให้ไปเอาอาภรณ์อิสตรีมานุ่งห่ม

          ข้อนี้เป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาด ความในประวัติศาสตร์กลับค้านกันเอง เพราะปรากฏชื่อพระมหาอุปราชาผู้นี้อยู่ในสงครามเชิงรุกทุกครั้ง ก่อนแต่การขาดคอช้างสิ้นพระชนม์

          จากนั้นมา พม่าก็ตกเป็นฝ่ายรับอย่างบอบช้ำยับเยินมาโดยตลอด จนเสียกรุงหงสาวดี แก่สมเด็จพระนเรศวร

หน้าถัดไป >