บทหุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ |
||||||
|
||||||
เรื่องสามก๊กนี้
ข้าพเจ้าเคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจากผู้เฒ่าผู้แก่
ด้วยเหตุที่คนไทยเองแต่โบราณมักติดเรื่องจีนอและเรื่องสามก๊กนี้คุ้นเคยกับคนไทยมาก
จนนับได้ว่า เป็นวรรณกรรมไทยที่แปลจากจีนเรื่องเอก ดูจากปี พ.ศ. ที่แปล
จะว่าเป็นเรื่องแรกก็อาจเป็นได้ โดยส่วนตัว
ข้าพเจ้าชอบสำนวนการเขียนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มาก ทั้งร้อยแก้ว
และร้อยกรอง เพราะท่านใช้ภาษาได้กระชับรัดกุม คมคาย มีลักษณะเฉพาะตน
และยิ่งเรื่องจีนด้วยแล้ว
ท่านวางลีลาออกภาษาได้ลักษณะสำเนียงเป็นจีนสวยงามมาก
ทั้งเรื่องสามก๊กเอง ก็จัดเป็นวรรณกรรมเชิงประวัติศาสตร์
และพิชัยสงครามชิ้นเอกของโลกเลยทีเดียว
เพราะได้ถูกแปลถ่ายทอดเป็นหลายภาษา จนน่าจะเป็นวรรณกรรมสากล แม้ว่าสามก๊กจะถูกแปลขึ้นในรัชกาลที่ ๑ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า คนไทยรู้จักเรื่องสามก๊กมาก่อนแล้วเป็นอย่างดี อย่างน้อยก็เป็นตำราพิชัยสงครามมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้วเป็นแน่ จะสังเกตได้จากพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ของพระเจ้ากรุงธนฯ นั้น ผิดแผกกับฉบับพระพุทธยอดฟ้าฯ ในตอนที่ยักษ์กับลิงรบกัน พระเจ้ากรุงธนฯ ทรงจัดการการรบตามกระบวนยุทธพิชัยสงครามสามก๊ก มีการซุ่มพล และรบล่อ เป็นต้น เชื่อว่าแม่ทัพนายกองของไทยในอดีตต้องเรียนเรื่องสามก๊กเป็นตำรา และตราบเท่าทุกวันนี้ สามก๊กก็จัดเป็นวรรณคดีไทยที่ต้องศึกษากันในหมู่นักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนโจโฉแตกทัพเรือ ด้วยเหตุนี้ เมื่อ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต อยากจะสร้างหุ่นขึ้นเล่นใหม่ ให้แปลกกว่าที่เคยเป็นมา จึงตกลงกันว่าจะเล่นเรื่อง สามก๊ก ตอน โจโฉแตกทัพเรือ เพราะนอกจากเหตุผลอื่นๆ ต่างก็คิดว่าคงจะมีบทละครหรือหุ่น ซึ่งโบราณท่านได้ทำไว้แล้ว ซึ่งเราจะพออาศัยได้เป็นแน่ แต่การณ์กลับตรงข้าม เพราะหลังจากเที่ยวค้นกันอยู่เป็นนาน ก็ไม่ปรากฏแม้หลักฐานว่าเคยมี จะมีก็แต่ตอนอื่นๆ เช่น ตอนเตียวเสี้ยนลวงตั๋งโต๊ะบ้าง จิวยี่รากเลือดบ้าง เป็นต้น ทั้งนี้ข้าพเจ้าพิเคราะห์ว่า คงจะเป็นด้วยตอนโจโฉแตกทัพเรือนี้ ต้องใช้ผู้คนและกลเม็ดในการแสดงที่ยุ่งยากมาก โบราณท่านจึงไม่ได้ทำไว้ หากว่าความคิดปักใจฟุ้งซ่านไปแล้วว่าจะทำให้จงได้ ข้าพเจ้าจึงต้องบังอาจถอดความจากร้อยแก้วของท่านพระยาพระคลังออกเป็นร้อยกรอง เฉพาะที่จะทำเป็นทำนองเพลงร้อง ส่วนบทเจรจาก็ตัดต่อรวบรัดเอาจากสำนวนเดิมของท่าน แต่ให้สั้นลง ควรแก่เวลาไม่เกิน ๒ ชั่วโมง โดยให้มีบทเกริ่นนำเรื่องด้วยเพลงหุ่น พอสิ้นกระบวนก็เข้าเรื่อง จับความตั้งแต่เล่าปี่แตกทัพ จูล่งอุ้มอาเต๊าตีฝ่าทหารโจโฉ โดยอัญเชิญบทพระราชนิพนธ์ตับจูล่งของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ มาไว้ จากนั้นตั้งแต่เล่าปี่มาอยู่กังแฮไปจนโจโฉแตกทัพเรือ และบทสรุปด้วยจีนไจ้ยอนั้น ข้าพเจ้าจำต้องแต่งเองทั้งสิ้น ฉะนั้น หากว่าบทหุ่นเรื่องนี้ ท่านผู้รู้ท่านใดเห็นขัด มิได้เหมาะสม ก็จงโปรดอดโทษไว้ เห็นเพียงเป็นเครื่องบันเทิงใจก็แล้วกัน เผื่อหากว่าเห็นดี จะจำเอาไปบรรเลงหรือขับร้องเล่นอย่างไรก็ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ หรือหากจะด่าทอติฉินเป็นข้อหยาบช้า ข้าพเจ้าก็จะอโหสิกรรม มิได้ผูกเวรกันสืบไป อนึ่ง ขอเรียนชี้แจงว่า ที่ทำเป็นเรื่องจีนมาเล่นนี้ ใช่ว่าจะมีใจรักข้างจีนมากกว่าไทยก็หาไม่ แต่จุดประสงค์มุ่งแสดงการออกภาษา อันเป็นหลักนิยมของศิลปินไทยในทุกแขนง อีกประการหนึ่ง เพลงไทยสำเนียงจีนนี้มีอยู่เป็นอันมาก แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของครูบาอาจารย์ทางดุริยางคศิลป์ของไทย ที่ท่านผูกประพันธ์ขึ้นได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน บางเพลง เช่น กัลยาเยี่ยมห้องทางเปลี่ยน นั้น คุณครูบุญยงค์ เกตุคง ก็ได้แต่งขึ้นจากเพลงพื้นเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ท่านก็นำมาบรรจุไว้ในเรื่องสามก๊กตอนนี้ในบางช่วงบางตอน ข้าพเจ้าได้นำเอาเนื้อร้องของเก่ามาตัดทอนเพื่อความเหมาะสมแก่การแสดงบ้าง เช่นบทที่ว่า ชักใบขึ้นกบรอก ให้ล้าต้าออกไปเอาเกาทัณฑ์ ฯลฯ ลูกเล่นเพลงหุ่นทำนองตลกนั้น ข้าพเจ้าได้มาจากคุณครูชื้น สกุลแก้ว เป็นทางจำเพาะ คณะคุณครูเปียก ประเสริฐกุล (บิดาท่าน) ทำขึ้น อีกอันหนึ่งคือ เพลงหุ่นออกธรณีร้องไห้ นั้น ข้าพเจ้าได้มาจากแผ่นเสียง ๗๘ เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ท่านครูหม่อมเจริญร้องไว้กับวงท่านครูจางวางทั่ว ลูกเล่นบางท่อนของเพลงหุ่น ข้าพเจ้าก็จำมาจากการอ่านทำนองเสนาะของจีน ที่ออกอากาศเสียงตามสายสมัยก่อน แล้วมาปรึกษาคุณครูจำเนียรหาจังหวะใส่ลงไป โดยขอคำจีนจากมารดาของอาจารย์จักพันธุ์ คือคำว่า เล่งซือเปสี่ไหอ๊วง (อาจารย์มังกรเป็นเจ้าสมุทรทั้ง ๔) เพลงจีนอื่นๆ ได้รับความกรุณาจากคุณครูบุญยงค์ และคุณครูเชื่อมช่วยกันบรรจุให้ จึงสำเร็จออกมาเป็นหุ่นเรื่องสามก๊กตอนโจโฉแตกทัพเรือ ฉะนั้น หุ่นเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ นี้ จึงไม่ใช่หุ่นจีน แต่เป็นหุ่นกระบอกไทยออกภาษาออกสำเนียงจีน บรรเลงด้วยเครื่องปี่พาทย์ไทย ประกอบเครื่องจังหวะจีน ส่วนการดำเนินเรื่องอาจมีที่ผิดแผกจากหนังสืออ่านบ้าง ก็ด้วยเหตุต้องการรวบรัดให้ได้ใจความแต่เพียงในเวลา ๒ ชั่วโมงเป็นเหตุ และในบางตอนก็ขอยืมจากเหตุการณ์ตอนอื่นมาใช้ เพื่อให้ได้ความเร้าใจยิ่งขึ้น ด้วยเห็นว่าถ้อยคำมีโวหารไพเราะกินใจ คือตอนจิวยี่ถ่มน้ำลายรดฟ้าว่า ฟ้าส่งข้ามาเกิดแล้ว ไฉนจึงให้ขงเบ้งมาเกิดอีกเล่า ดังนี้ แต่โครงเรื่องทั้งสิ้นแล้ว ก็ยังคงเป็นไปตามหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นั้นเอง
|