บทหุ่นกระบอกเรื่อง "ตะเลงพ่าย" ไม่ใช่ "ลิลิตตะเลงพ่าย"

          สำมะหาขัตติยมานะ ละอายพระทัยโดยส่วนเดียว คงไม่มีแรงพอที่จักชักจูง คนขลาด อันกำลังบัญชาการมีชัยการรบอยู่กลางจตุรงคเสนาทั้งห้าแสนให้สงบพลลง แล้วไสพระพัทธกอคชาธาร ออกกระทำยุทธหัตถีโดยลำพังสองกับสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งเสียเปรียบมากกว่ามากนัก

          ด้วยพลัดตกอยู่กลางทัพพม่า เพียงพระองค์กับพระอนุชาแลพลจตุลังคบาท รักษาสี่เท้าช้างเท่านั้น

          แท้จริงแล้วเราต้องยอมรับและยกย่อง ความทระนงองอาจ ถือดีในฝีมือการรบของพระมหาอุปราชาเช่นกัน

          พระมหาอุปราชา รับคำท้าของสมเด็จพระนเรศวร ด้วยความมั่นใจในชัยชนะ แลตะลุยรบด้วยเชิงบุกกระหน่ำอย่างเหนือชั้น จนย่ามใจ อันเป็นเชิงรบตามกลยุทธปกติของนานาชาติ

          หากตกต้องลูกไม้กล ย้อนเกล็ดนาคราช ของพิชัยยุทธข้างไทย ในขณะสมเด็จพระนเรศวรทรงเพลี่ยงพล้ำจนพระมาลาเบี่ยง ต้องคมง้าวขาดลินั้น

          คือจังหวะที่ทรงตลบพระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ฟันสอดสะพายใต้แล่งพระพาหาพระมหาอุปราชา ขาดคอช้างสิ้นพระชนม์

          เหตุการณ์นี้เราเขียนขึ้นจากเหตุผลที่เคยได้ยินท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ตั้งข้อสังเกตไว้ตามชื่อแลท่าเตะแก้หมัด อันสอดคล้องของมวยไชยาคือ “อุปราชขาดคอช้าง “

          เราจบเนื้อเรื่อง “ตะเลงพ่าย”ลงเพียงนี้ ด้วยมิได้มุ่งแสดงเพียงประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอย่างละเอียด

          แต่แต่งขึ้นด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ แลบูรพกษัตราธิราชกับเหล่าวีรบรรพชนไทยในอดีต ผู้สละพลีร่างกายโลหิตแลชีวิต ธารทรงแผ่นดินสยามประเทศนี้ไว้ เพื่อความดำรงอยู่จนตราบเท่าปัจจุบันสมัย

          มีเหตุอัศจรรย์ อันแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระกฤดาภินิหารของสมเด็จพระนเรศวร ให้ประจักษ์แก่เราในพระประสงค์ให้แต่งบทหุ่นเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งขอบันทึกไว้เป็นหลักฐานตามสัจจริง ก็คือ

          ครั้นล่วงกาลผ่านมา จ่าไก่(ประยงค์ กิจนิเทศ) ได้ยินเราให้สัมภาษณ์หรือบอกแก่ใครๆว่าท่านเป็นผู้แนะ ให้เอาเรื่อง “ตะเลงพ่าย”มาทำบทหุ่น จึงถามเราต่อหน้าอาจารย์จักรพันธุ์อย่างสงสัยว่า
          “พ่อต๋อง ผมเป็นคนพูดอย่างนั้นจริงๆเหรอ”
          “จริงซีจ่า อาจารย์จักรพันธุ์ก็นั่งอยู่ด้วย”

          เราตอบพร้อมกับอาจารย์จักรพันธุ์ ช่วยเสริมเพื่อความมั่นใจ แต่จ่าไก่กลับพูดว่า

          “เอ...ไม่รู้ผมไปเอาที่ไหนมาพูด...ผมไม่เคยรู้จักเรื่องตะเลงพ่าย มาได้ยินก็ที่บ้านนี้ ที่พ่อต๋องแต่งนี่แหละ”

          ขอนอบน้อมถวายบทรจนากวีคีตดุริยางค์ ทั้งศิลปกรรมอันเลือกสรรสร้างอย่างประณีตบรรจงแล้วนี้ ด้วยศรัทธาแลวิริยพละ เป็นเทวตาสักการบูชาพระคุณแห่งองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้า กับทั้งเหล่าบูรพกษัตรา บรรดาวีรบรรพชนไทยทั้งหลาย แล้วเทอญ

วัลลภิศร์ สดประเสริฐ
๖ กรกฎาคม ๒๕๕๑
< ย้อนกลับ