ที่มาของหุ่นกระบอกตะเลงพ่าย

          พ.ศ. ๒๕๓๒ หลังปิดการแสดง หุ่นกระบอกเรื่อง "สามก๊ก" ตอนโจโฉแตกทัพเรือ ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ด้วยความชื่นชมประทับใจของผู้ชมอย่างล้นหลาม หากความคิดถึงอาลัยอาวรณ์ ในสัมพันธภาพ ระหว่างนักแสดง นักดนตรี และผู้ร่วมงานทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาครูอาวุโส อันเป็นที่เคารพ คือ

          คุณครูชื้น สกุลแก้ว
          คุณครูบุญยงค์ เกตุคง
          คุณครูบุญยัง เกตุคง
          คุณครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์

          มิได้จืดจางจบลงด้วย อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต หัวหน้าคณะ จึงนัดหมายพบปะรับประทานอาหาร พูดจาสนทนากัน ด้วยความอบอุ่นคุ้นเคย ตามประสาเพื่อนมิตร ศิษย์ ครู

          คุณครูบุญยงค์ ปรารภกับเรา

          “พ่อต๋อง แต่งเรื่องอะไรใหม่ขึ้นมาเล่นกันอีกดีกว่า…….ไม่ใช่ผมอยากได้ตังค์นา…มันสนุกดี”

          เรากราบเรียนไปว่า

          “ผมก็อยากเล่นครับครู แต่ยังนึกไม่ออกเลยว่าจะหาเรื่องอะไรมาทำ กลัวออกมาไม่ดีเหมือนสามก๊ก”

          “เรื่อง ตะเลงพ่าย ไงล่ะ พ่อต๋อง…..ผมว่าดีนา ออกภาษา มอญ พม่า”

          ครูประยงค์ กิจนิเทศ (จ่าไก่) คนเครื่องหนังประจำวง พูดแนะขึ้นอย่างหนักแน่น ซึ่งเรากับอาจารย์จักรพันธุ์ยังจำได้ เราจึงตอบรับคำอย่างครึ่งๆกลางๆ ด้วยไม่มั่นใจว่า เทวดาท่านจักเมตตาให้สติปัญญา นึกคิดออกมาได้ดั่งเรื่องสามก๊กหรือไม่ ทั้งที่ใจเปี่ยมด้วยความเคารพศรัทธา สำนึกในพระคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตัดสินใจจักทำถวายอยู่ในส่วนลึกแล้วก็ตาม

 
วัลลภิศร์ สดประเสริฐ